Wi-Fi 6 คือ อะไร
Wi-Fi 6 เป็นเทคโนโลยีแบบใหม่ชื่อเต็มคือ Wi-Fi 802.11ax ซึ่งเริ่มใช้กับอุปกรณ์ต่าง ๆ ในปี 2019 หลังจากที่ Wi-Fi Alliance ได้ประกาศเปลี่ยนวิธีการเรียกเวอร์ชั่น Wi-Fi ที่จำยากมาเป็นสัญลักษณ์ตัวเลขแทนที่จำง่ายขึ้น
ทั้งนี้ชื่อเรียกเวอร์ชั่น Wi-Fi มีดังนี้
- Wi-Fi 6: 802.11ax (กำลังจะมาในปี 2019)
- Wi-Fi 5: 802.11ac (2014)
- Wi-Fi 4: 802.11n (2009)
- Wi-Fi 3: 802.11g (2003)
- Wi-Fi 2: 802.11a (1999)
- Wi-Fi 1: 802.11b (1999)
ส่วน Wi-Fi 6 มีความเร็วสูงสุด 10Gbps เร็วกว่า Wi-Fi 5 (802.11ac) ประมาณ 30-40%และ Wi-Fi 6 รองรับ MU-MIMO สามารถตอบสนองได้รวดเร็วและลดสัญญาณรบกวนในพื้นที่ Wi-Fi ที่หนาแน่น อย่างไรก็ตาม การที่จะใช้ Wi-Fi 6 นั้น อุปกรณ์ มือถือ Notebook ทีวี และ Router จะต้องรองรับ Wi-Fi 6 ด้วย ซึ่งมีจำนวนจำกัด และมีราคาแพง
อย่างไรก็ตาม คุณไม่จำเป็นที่จะต้องรีบอัพเกรดหรือซื้อ Router ที่รองรับ Wi-Fi 6 ทันทีเนื่องจากราคาแพงอยู่ และ Wi-Fi 4 กับ Wi-Fi 5 ยังใช้ได้แพร่หลายกว่ามาก และความเร็วอินเทอร์เน็ตยังเพียงพอ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องอัพเกรดให้รองรับ Wi-Fi 6 ในช่วงนี้
ข้อดีของ Wi-Fi 6 หรือ 802.11ax
- ถ้ามีการเชื่อมต่ออุปกรณ์เพียงตัวเดียวกับเราเตอร์ความเร็วสูงสุดที่อุปกรณ์จะทำได้มากกว่า Wi-Fi 5 อยู่ราว 40% สาเหตุเพราะประสิทธิภาพในการ Encoding ข้อมูล เพราะสามารถอัดข้อมูลเข้าไปได้มากกว่าที่ย่านความถี่เดียวกัน ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นความถี่ 2.4 GHz หรือ 5 GHz ตัว Wi-Fi 6 ก็มีประสิทธิภาพดีกว่า
- ประหยัดแบตอุปกรณ์ด้วยฟีเจอร์ Target Wake Time คือความสามารถที่ทำให้ Access Point (AP) สามารถคุยกับอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อได้ว่าให้หยุดพักการส่งหรือรับข้อมูลไว้ก่อน พูดง่ายๆ มันคือ Sleep mode นั่นเอง ตรงนี้เองจึงสนับสนุนการใช้งานอุปกรณ์ IoT อีกด้วย
- มีค่าเฉลี่ยของแต่ละอุปกรณ์สูงขึ้นกว่าเดิมในการใช้งานที่มีคนเยอะๆ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการใช้งานในที่สาธารณะหรือในบ้านที่มีหลายอุปกรณ์ก็ทำความเร็วได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน
เทคนิคแก้ปัญหาสัญญาณชนกันของ Wi-Fi 6
- ใช้ Orthogonal Frequency Division Multiple Access (OFDMA) เพื่อแบ่งช่องสัญญาณเป็นช่องย่อยๆ จำนวนมากเพื่อนำส่งข้อมูลกับอุปกรณ์ที่ต่างกัน ดังนั้น AP จะสามารถสื่อสารกับอุปกรณ์ได้มากขึ้นในคราวเดียว
- Wi-Fi 5 ได้มีการใช้งานเสากระจายสัญญาณหลายเสาที่เรียกเทคนิคนี้ว่า MIMO เพื่อช่วยให้ AP สามารถสื่อสารกับอุปกรณ์ได้หลายตัวในคราวเดียวแต่อย่างไรก็ตามตัวอุปกรณ์ปลายทางไม่สามารถตอบสนองกลับมาได้พร้อมกัน Wi-Fi 6 จึงพัฒนาเทคนิค MU-MIMO เพื่อให้อุปกรณ์ตอบกลับมาได้พร้อมกันด้วย
- AP ที่อยู่ใกล้และใช้ช่องสัญญาณเดียวกันทำให้รบกวนกันเองได้ ดังนั้นมาตรฐานใหม่จึงแก้ปัญหาโดยให้มีค่า Color ของ Basic Service Set (BSS) ให้แตกต่างกันได้ระหว่าง 0-7 ยกตัวอย่างเช่น ระหว่างรอช่องสัญญาณว่างอุปกรณ์อาจตรวจพบว่าช่องสัญาณที่มีค่า Color ต่างกันมีระดับสัญญาณต่ำ อุปกรณ์จะสามารถส่งข้อมูลออกไปได้โดยไม่ต้องรอซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในพื้นที่ที่มีการใช้งานทับซ้อนกันได้ หรือเรียกอีกชื่อได้ว่า “Spatial Frequency re-use”