คงไม่มีใครในยุคนี้ไม่รู้จักมาตรฐาน IEEE 802.11ac หรือ Gigabit Wi-Fi ที่ให้เราใช้งานระบบเครือข่ายไร้สายได้ด้วยความเร็วสูงสุดถึง 1.3 Gbps ซึ่งมาแทนมาตรฐานเดิมอย่าง IEEE 802.11n ที่ให้ความเร็วสูงสุดเพียง 450 Mbps วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับมาตรฐาน 802.11ac Wave 2 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีต่อยอดจาก 802.11ac Wave 1 กัน
IEEE 802.11ac Wave 1
802.11ac Wave 1 เป็นมาตรฐานของระบบเครือข่ายไร้สายที่เข้ามาแทนที่มาตรฐาน IEEE 802.11n โดยใช้การมอดูเลตสัญญาณแบบใหม่ ปรับอัลกอริธึมให้ดีขึ้น ปรับช่องสัญญาณให้มีขนาด 80 MHz แทนของเดิมที่ขนาด 40 MHz ใน 802.11n ส่งผลให้มีอัตราการรับส่งข้อมูลสูงถึง 433 Mbps
802.11ac Wave 1 ยังรองรับการส่งข้อมูลพร้อมกันถึง 4 ชุด (4 Spatial Streams) ทำให้สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 1.73 Gbps แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีรองรับการส่งข้อมูลพร้อมกันได้สูงสุดเพียง 3 ชุดเท่านั้น จึงได้ความเร็วสูงสุดที่ 1.3 Gbps
802.11ac Wave 2
มาตรฐาน 802.11n และ 802.11ac Wave 1 มีข้อจำกัดทางเทคโนโลยีที่เรียกว่า SU-MIMO (Single-User Multiple Input / Multiple Output) คือ สามารถรับส่งข้อมูลได้พร้อมกันหลายชุดพร้อมกัน แต่ได้เพียงทีละผู้ใช้เท่านั้น 802.11ac Wave 2 จะถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขเทคโนโลยีตรงจุดนี้ คือ รองรับการใช้งานแบบ MU-MIMO (Multi-User Multiple Input / Multiple Output) ซึ่งสามารถรับส่งข้อมูลหลายๆชุดกับหลายๆผู้ใช้ได้พร้อมกัน สูงสุดถึง 4 ผู้ใช้
นอกจากนี้ 802.11ac Wave 2 จะทำการขยายช่องสัญญาณจากของเดิม (Wave 1) คือ 80 MHz ไปเป็น 160 MHz และเพิ่มอัตราการรับส่งข้อมูลพร้อมกันจากเดิม 4 ชุด ไปเป็น 8 ชุด (8 Spatial Streams) ซึ่งเมื่อรวม 2 ปัจจัยนี้เข้าด้วยกัน พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพของการทำ Beamfoaming และเทคนิคอื่นๆ คาดว่ามาตรฐาน 802.11ac Wave 2 จะทำความเร็วสูงสุดที่ประมาณ 7 ~ 10 Gbps
สิ่งที่ทำให้ เทคโนโลยี AC ทั้ง wave 1 และ wave 2 นั้นทำงานได้อย่างประสิทธิภาพ
Wi-Fi AC อาศัยเทคโนโลยีหลัก 3 อย่างให้การเพิ่มความเร็วให้ถึงระดับ Gigabit ประกอบด้วย
– เพิ่มจำนวน Channel Bonding จากเดิมที่ช่องสัญญาณกว้าง 40 MHz บนมาตรฐาน 802.11n ก็กลายเป็น 80 และ 160 MHz ส่งผลให้ได้ความเร็วเพิ่มสูงขึ้น 117 และ 333 เปอร์เซ็นตามลำดับ
– มอดูเลตสัญญาณหนาแน่นขึ้น โดยใช้การมอดูเลตสัญญาณแบบ 256QAM แทนที่ 64QAM ใน 802.11n ทำให้ได้ความเร็วเพิ่มขึ้นจากเดิม 33%
– เพิ่มความสามารถฟีเจอร์ MIMO จากเดิมที่รับส่งข้อมูลได้สูงสุด 4 Spatial Streams พร้อมกัน ก็กลายเป็น 8 Spatial Streams ความเร็วเพิ่มขึ้นอีก 100%
นั่นหมายความว่า จากเดิม 1SS สามารถรับส่งข้อมูลได้ด้วยความเร็ว 150 Mbps บน 802.11n เพิ่มขึ้นเป็น 433 Mbps (80 MHz) และ 867 Mbps (160 MHz) ตามลำดับ และเมื่อส่งข้อมูล 8SS จะทำให้ 802.11ac มีความเร็วสูงสุดคือ 867 * 8 = 6.9 Gbps
สำหรับความเสถียรของสัญญาณนั้น 802.11ac ก็ใช้เทคนิค 3 ประการด้วยกัน คือ
– ทำงานบนย่านความถี่ 5 GHz ที่มีจำนวนช่องสัญญาณเยอะกว่า และสัญญาณรบกวนน้อยกว่า
– บีบสัญญาณให้ส่งตรงไปยังอุปกรณ์ผ่านทางฟีเจอร์ Beamforming ทำให้อุปกรณ์ได้รับสัญญาณที่แรงยิ่งขึ้น
– MU-MIMO ช่วยให้สามารถรับส่งข้อมูลกับอุปกรณ์ได้พร้อมกันหลายเครื่อง ซึ่งช่วยเพิ่มความเร็วโดยเฉลี่ยของการใช้งานให้สูงขึ้น